เชื่อหรือไม่ว่า หากคุณมีข้อมูลดีๆอยู่ในมือ แต่คุณนำเสนอมันไม่ถูกวิธี ข้อมูลดีๆก็อาจกลายเป็นไม่ดีได้ (เหมือนเจตนาดีแต่พูดไม่เป็นก็กลายเป็นไม่ดีไปซะงั้น) การทำ Infographic ก็เช่นกันครับ ถ้าเราเลือกรูปแบบของ Infographic ไม่เหมาะสมกับข้อมูล ก็จะทำให้ข้อมูลถูกลดความหมาย หรือไม่น่าสนใจเท่าที่ควร
วันนี้ Infographic Thailand เราเลยมาเสนอรูปแบบ Infographic แบบต่างๆ ที่คุณสามารถนำไปใช้สร้างงาน Infographic ของคุณให้เป็น Infographic คุณภาพได้ทันที!
1. Visualised Article
เหมาะสำหรับการนำบทความ งานเขียน มาเล่าผ่าน Infographic เพราะฉะนั้น Infographic แบบนี้จึงต้องใช้การนำเสนอที่เหมาะสมกับข้อมูลแต่ละชนิด เช่น ถ้ามีตัวเลขก็ควรนำเสนอผ่านกราฟแบบต่างๆ หรือ ตัวหนังสือก็สามารถสื่อสารด้วยภาพประกอบ หรือ icon
เทคนิค : สรุปบทความ และเลือกประเด็นก่อนนำเสนอ
ตัวอย่าง จาก Infographic Thailand
2. Listed
เป็น Infographic ที่คนไทยเราน่าจะคุ้นเคยกันดีครับ มักจะใช้ตัวเลขนำในเฮดไลน์ เช่น “5วิธี” ดูแลหุ่นสวย, “4 เทคนิค” พิชิตใจนายจ้าง การนำเสนอแบบเป็นข้อๆแบบนี้เหมาะกับเรื่องที่ไม่ยาวนัก และไม่ควรเป็นเรื่องที่เครียดมากเกินไป
เทคนิค : ลองวิเคราะห์ว่าข้อไหนสามารถรวบเป็นข้อเดียวกันได้ เพราะยิ่งมีหลายข้อยิ่งจดจำได้ยาก
ตัวอย่าง จาก Infographic Thailand
3. Comparison
เหมาะกับใช้เพื่อเปรียบเทียบระหว่างของสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่ง โดยการนำเสนอคู่กันแบบนี้ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนว่าแตกต่างอย่างไรบ้าง
เทคนิค : ใช้การจัดวางที่เหมือนกันทั้งสองฝั่ง ทำให้เห็นความต่างที่ชัดเจน, ใช้สีคู่ตรงข้ามเป็นตัวแบ่งฝั่ง ทำให้ดูง่ายขึ้น
ตัวอย่าง โดย Infographic Thailand
4. Structure
เหมาะกับการใช้อธิบายส่วนประกอบของบางสิ่ง
เทคนิค : พยายามสร้างภาพให้เห็นแต่ละส่วนประกอบ เช่น ภาพเหมือนสแกนเข้าไปภายใน หรือ การแยกแต่ละส่วนออกห่างกัน ไม่ซ้อนกัน
ตัวอย่างโดย Infographic Thailand
5. TimeLine
เหมาะสำหรับใช้เล่าประวัติความเป็นมาเป็นไปของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยใช้เส้นแทนระยะเวลา สามารถใช้ได้กับทุกอย่าง เช่นประวัติคน ประวัติองค์กร ประวิติสถานที่
เทคนิค : ใช้ความห่างของแต่ละจุด ช่วยบอกความห่างของแต่ละช่วงเวลาได้
ตัวอย่าง โดย visual.ly
6. Flowchart
เป็นการนำเสนอแบบเป็นลำดับขั้น เหมาะกับการเสนอเป็นควิซให้ผู้อ่านได้ทราบคำตอบที่ต้องการโดยการอ่านไล่ลงไปตามเส้นจนถึงด้านล่างสุด
เทคนิค : ระวังเรื่องความยุ่งเหยิงของเส้น, ใช้สีช่วยแยกเส้น ลดความสับสนในการอ่าน
ตัวอย่างโดย Infographic Thailand
7. RoadMap
เป็นการอธิบายทีละขั้นตอน เหมาะกับการอธิบายขั้นตอนการทำงาน หรือการเดินทาง เช่น ขั้นตอนการทำงานขององค์กร ขั้นตอนการรับพนักงานเข้าทำงาน การเดินทางของเด็กนักเรียนสู่การเป็นนิสิต
เทคนิค : เรื่องต้องน่าสนใจพอที่คนอยากจะรู้ทีละขั้นตอนขนาดนี้
ตัวอย่าง โดย Infographic Thailand
8. Useful Bait
เป็น Infographic ที่ทำให้เราเห็นวิธีทำบางอย่าง โดยที่เราเห็นแล้วสามารถนำไปใช้ได้ทันที
เทคนิค : ต้องให้ความสำคัญกับการอ่านง่าย และความเข้าใจง่าย มากกว่าความสวยงามครับ
ตัวอย่าง โดย Infographic Thailand
9. NumberPorn
คือ Infographic ที่เต็มไปด้วยตัวเลข และกราฟ หากคุณมีตัวเลขที่น่าสนใจมากเพียงพอก็สามารถนำเสนอในรูปแบบนี้ได้
เทคนิค : ไม่ใช่แค่มีตัวเลขมาก แต่ตัวเลขต้องน่าสนใจ หรือเกี่ยวข้องกับคนอ่านมากพอ,
ถึงจะมีกราฟหลายประเภทแต่ควรเลือกสไตล์กราฟฟิคแบบเดียวกันทั้งภาพ เช่น 3D, Flat
ตัวอย่าง โดย Infographic Thailand
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับ รูปแบบ Infographic ทั้ง 9 แบบ ทาง Infographic Thailand หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณผู้อ่านได้เพิ่มพูนความรู้ Infographic มากยิ่งขึ้น และสามารถนำไปปรับใช้ในงาน Infographic ของคุณเพื่อให้เป็น Infographic ที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นนะครับ